498 จำนวนผู้เข้าชม |
ไฟเบอร์ (Fiber) : ไฟเบอร์ทำงานอย่างไร
ในร่างกายของเรา
ไฟเบอร์ หรือ ใยอาหาร มีชื่อหนึ่งคือ “เซลลูโลส” ที่เราสามารถพบได้ในอาหารจำพวกผัก ผลไม้และธัญพืช เป็นสิ่งที่ร่างกายของเราไม่สามารถย่อยสลายนำไปใช้งานได้ ไฟเบอร์จะไม่ให้พลังงานและไม่ถูกย่อยในระบบทางเดินอาหาร แล้วสุดท้ายก็จะถูกขับถ่ายออกมาในรูปของกากอาหาร แต่ไฟเบอร์กลับเป็นสารอาหารที่สำคัญและให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมากเลยนะคะ ร่างกายของเราจำเป็นต้องได้รับไฟเบอร์เหล่านี้เข้าสู่ร่างกายทุกๆวันค่ะ
เมื่อเราเริ่มรับประทานอาหารที่มีใยอาหารหรือไฟเบอร์ อาหารไฟเบอร์สูงมักจะทำให้เราใช้เวลาในการเคี้ยวมากขึ้นทำให้เราทานช้าลงและโดยปกติประมาณ 20 นาทีหลังจากเริ่มทานอาหาร สมองเราจะรับรู้ถึงสัญญาณอิ่ม อาหารไฟเบอร์สูงจึงช่วยป้องกันไม่ให้เราทานมากเกินไปและอิ่มอยู่ท้องได้นาน คุณสมบัติข้อนี้นับว่ามีประโยชน์มากสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักค่ะ
หน้าที่ของไฟเบอร์ในกระเพาะอาหาร การเคลื่อนที่ของไฟเบอร์ไปตามทางเดินอาหารดูเหมือนจะไม่มีหน้าที่อะไรมากนัก แต่ที่จริงแล้วมันมีบทบาทสำคัญในกระเพาะอาหารเรามากเลยนะคะ
ไฟเบอร์ชนิดที่ไม่ละลายในน้ำ (insoluble fiber) ที่พบมากในข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ รำข้าวและผักต่างๆจะเข้าไปพองตัวคล้ายกับฟองน้ำเป็นการเพิ่มใยอาหารและปริมาณน้ำภายในกระเพาะอาหาร เมื่อมันเคลื่อนผ่านไปก็จะทำหน้าที่คล้ายไม้กวาดระบบทางเดินอาหารให้สะอาด
ไฟเบอร์ที่ละลายได้ในน้ำ (soluble dietary fiber) ก็จะดูดซับน้ำเอาไว้แล้วทำให้เกิดความหนืดเพิ่มมากขึ้นคล้ายกับก้อนเจลนุ่มๆหน้าที่ของมันคือดูดซับเอาน้ำมันและน้ำตาลเอาไว้ความสามารถในการดูดซับน้ำมันของไฟเบอร์ทำให้ปริมาณของโคเลสเตอรอลที่จะดูดซึมเข้าร่างกายน้อยลง สามารถช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ลดไขมันเลว LDL ซึ่งเท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี ไฟเบอร์ชนิดนี้ซึ่งพบมากในผลไม้ ถั่วและข้าวโอ๊ตจะดูดซับน้ำตาลเอาไว้ทำให้นํ้าตาลถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยลงจึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้
การทำงานของไฟเบอร์ในลำไส้ใหญ่เมื่อเคลื่อนมาถึงลำไส้ใหญ่ไฟเบอร์จะทำให้เกิดกระบวนการ Fermentation ที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นใยอาหารกับลำไส้ใหญ่หากเป็นไฟเบอร์ที่ละลายได้ในน้ำแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จะช่วยย่อยให้ได้ออกมาเป็นกรดไขมันสายสั้นที่จะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้ใหญ่เข้าไปอยู่ในเยื่อบุซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดค่า pH ในลำไส้ใหญ่ ลดกรดยูเรีย แอมโมเนียและช่วยกระตุ้นการดูดซึมน้ำและโซเดียมกลับเข้าร่างกายในผู้ที่มีอาการท้องเสียลดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ได้อีกด้วยค่ะ
ไฟเบอร์ชนิดที่ไม่ละลายน้ำ เมื่อมาถึงลำไส้ใหญ่มันจะเพิ่มปริมาณและนํ้าหนักของอุจจาระ ทำให้นุ่มขึ้นสามารถเคลื่อนได้สะดวก ดังนั้นเวลาของการสัมผัสระหว่างสารพิษหรือสารที่ก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหารที่เรารับประทานเข้าไปกับเยื่อบุลำไส้จะน้อยลงลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อลำไส้ไม่ต้องทำงานหนักไม่มีอุจจาระตกค้างก็จะลดการเกิดท้องผูก โรคลำไส้แปรปรวนและลดความเสี่ยงในการเกิดริดสีดวงค่ะ